คนวัยทำงาน เสี่ยงลงพุง-ซึมเศร้า

กรมอนามัยเผยวัยทำงานไทย 15 ล้านคน เสี่ยงเป็นโรคอ้วนลงพุง ซึมเศร้า ความดันสูง เบาหวาน โรคหัวใจ พบเสี่ยงฆ่าตัวตายมากที่สุด แนะบริษัท-องค์กร สร้างแรงจูงใจเปลี่ยนพฤติกรรม

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ กรมสุขภาพจิต คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒจัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่บุคลากรศูนย์อนามัย ที่ 1-12 สถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง ภาคีเครือข่ายส่งเสริมสุขภาพส่วนภูมิภาค บุคลากรโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และจัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ หลักสูตรผู้ปฏิบัติงานในคลินิกปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพวัยทำงาน วานนี้(8ก.ค.)

นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงสภาพปัญหาว่า ปัจจุบันมีวัยทำงานราว 15 ล้านคน อยู่ในระบบประกันสังคม และส่วนใหญ่ใช้เวลาอยู่ในที่ทำงานไม่น้อยกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ทำให้หลายคนเกิดภาวะความเครียดสะสม กระทบต่อสุขภาพร่างกาย และทำให้เกิดโรคอ้วน เพราะขาดการออกกำลังกาย และการกินอาหารที่มีน้ำตาลมากเกินไป เป็นโรค ไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่เกิดจากพฤติกรรม การใช้ชีวิต

โดยพบว่าเป็นโรค ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด มะเร็งระบบสืบพันธุ์ เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม โดยเฉพาะในผู้หญิง และโรคจากการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ เช่น มะเร็งปอด มะเร็งกล่องเสียง หลอดเลือดสมองตีบ และเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ

ทั้งนี้จากข้อมูลพบว่า อ้วนลงพุง และโรคที่ไม่ติดต่อเรื้อรัง พบคนวัยทำงาน มีแนวโน้มเป็นโรคดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น ส่วนโรคเครียดเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า และวัยทำงานเป็นวัยที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายมากที่สุด โดยทั้งหมดทำให้เกิดภาระ และสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลจำนวนมาก

นพ.สมัย ศิริทองถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ผลกระทบจากพฤติกรรมสุขภาพของวัยทำงานเป็นปัญหาที่ไม่ควรละเลย เพราะเป็นกลุ่มวัยสำคัญ ในการช่วยขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้พบคนวัยทำงานทั่วโลก อายุตั้งแต่ 20 กว่าปีขึ้นไป นอกจากเสี่ยงป่วยเป็นโรคแล้ว ยังเกิดภาวะหมดไฟในการทำงาน ทำให้จิตใจมีสภาพหดหู่ เกิดภาวะวิตกกังวล และนำไปสู่การเกิดโรคซึมเศร้าได้

ดังนั้น บริษัท องค์กร และหน่วยงานต่างๆ ควรส่งเสริมให้พนักงานหันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ และสร้างแรงจูงใจ ด้วยการส่งเสริมการออกกำลังกาย การบริหารจัดการอารมณ์ รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ควบคู่กับการลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคได้ หากสุขภาพกายดีจะส่งผลให้มีสุขภาพใจที่ดีเช่นกัน ส่วนโรคซึมเศร้ามีแนวโน้ม จะนำไปสู่ความเสี่ยงฆ่าตัวตายหรือไม่นั้น จะขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยงอื่นร่วมด้วย

ที่มา: www.thaihealth.or.th
ลิ้งข่าว: https://bit.ly/2XAv3nTh