รู้จักวัณโรคกันเถอะ

ประเด็นที่ 1.  ความเสี่ยงเมื่อเราอยู่ใกล้คนเป็นวัณโรค : ยังไม่มีหลักฐานวิจัยรองรับความชุกของเชื้อในอากาศในเมืองไทย แต่ นพ.ชูชัย ศรชำนิ จาก สปสช. เคยได้ให้ข่าวหนังสือพิมพ์ว่า คนเดินห้างสรรพสินค้าทุก 500 คน จะมีคนเป็นวัณโรคระยะติดต่อ หนึ่งคน

667_www

ประเด็นที่ 2 กลไกการแพร่เชื้อวัณโรค : เมื่อคนที่เป็นวัณโรคปอดระยะแพร่เชื้อ ไอ หรือ จาม หรือ พูด หรือ ร้องคาราโอเกะ เชื้อวัณโรคจะเกาะกับเสมหะ หรือ ไอน้ำ ออกมา ซึ่งมีขนาดเล็กมากระดับ 1-5 ไมครอน อันเป็นขนาดเล็กจนลอยละล่องไปไกลแสนไกลในอากาศได้นานแสนนาน ซึ่งงานวิจัยบอกว่า โอกาสจะแพร่เชื้อมากขึ้น ถ้า (1) ในบรรยากาศมีความหนาแน่นของอนุภาคของเชื้อโรคมาก (2) คนป่วยไอหรือจามแรงโดยไม่ปิดปาก (3) คนป่วยไม่ได้รับการรักษา หรือ รักษายังไม่นานพอ (4) มีการแหย่ให้ฟุ้ง เช่น เอาสายยางไปไชคอเพื่อดูดเสมหะ ส่องกล้องผ่านจมูกเข้าไปตรวจหลอดลม (5) เกิดเหตุในห้องแคบๆ อับๆ ทึบๆ (7) ระบบระบายอากาศไม่ดี

หากมีผู้รับเชื้อสูดเอาอนุภาคนี้เข้าไป อนุภาคก็จะผ่าน จมูก คอ หลอดลม ลงไปถึงถุงลมเล็กๆ ในปอด หลังจากนั้น เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด (macrophage) ที่ลากตระเวณอยู่แถวนั้นก็จะเก็บกวาดโดยกินเชื้อโรคเข้าไปไว้ในตัว ซึ่งจะเกิดเหตุการณ์ตามมาได้ สามแบบ คือ

1. เซลล์ macrophage ทำลายเชื้อวัณโรคให้ตายได้สำเร็จ หมดเกลี้ยง หายจากโรคเด็ดขาด ไม่มีโอกาสแพร่เชื้อให้ใครอีก

2. เซลล์ macrophage อมเชื้อไว้ แต่เชื้อยังไม่ตายแต่ออกไปอาละวาดที่ไหนไม่ได้ แบบนี้เรียกเป็นวัณโรคแฝง (latent TB infection) ซึ่งกินเวลาได้นานหลายปี หรือหลายสิบปี ไม่มีอาการอะไร แพร่เชื้อให้ใครไม่ได้

3. เชื้อวัณโรคเหิมเกริ แบ่งตัวในเซลล์จนเซลล์ macrophage แตก ส่งเม็ดเลือดขาวมาอีกก็ตายอีกจนกองพะเนิน เปื่อยสลายกลายเป็นฝีหนอกอยู่ในปอด ซึ่งก็คือระยะปอดอักเสบ ร่างกายก็ทำความสะอาดหนองออกไป เหลือเป็นโพรงอยู่ในปอดแต่พื้นที่นี้เลือดเข้าไปไม่ได้จึงส่งเม็ดเลือดขาวเข้าไปทำลายเชื้อไม่ได้ ร่างกายหันไปขับไล่เชื้อโดยการไอและจาม เชื้อก็ลอยไปในเสมหะเพื่อไปติดผู้อื่นต่อไป
ในคนที่ไม่มีอาการอะไรเลย ไม่มีวิธีตรวจคัดกรองวัณโรคที่ได้ผลคุ้มค่าการตรวจ ปัจจุบันนี้ทั่วโลกยอมรับกันว่าการเอ็กซเรย์ปอดไม่มีประโยชน์ในการคัดกรองวัณโรค สาเหตุที่เอ็กซเรย์ไม่ช่วยคัดกรองวัณโรคเพราะมันมีความไว (sensitivity) ต่ำเพียง 47%หมายความว่าถ้าเอาคนเป็นวัณโรคปอดมาเอ็กซเรย์ 100 คน หมอเอ็กซเรย์จะอ่านฟิลม์ว่าเป็นวัณโรคเพียง 47 คนเท่านั้น ที่เหลือถึงเป็นโรคจริงอยู่เห็นๆแต่หมอก็ไม่ได้อ่าน เรียกว่าแบบนี้โยนหัวก้อยเอาก็ได้ อีกอย่างหนึ่งการเอ็กซเรย์มีความจำเพาะ (specificity) เพียง71% หมายความว่าถ้าเอาคนที่ไม่เป็นโรคเลยมาเอ็กซเรย์ 100 คน หมอเอ็กซเรย์จะอ่านฟิลม์ว่าปกติเพียง 71 คน อีก 29 คนถูกทึกทักว่าผิดปกติ ทั้งๆที่ไม่ได้ป่วยสักนิด แต่อนาคตก็มีหวังต้องโดนส่องกล้อง เอาเข็มดูดปอด หรือรักษาด้วยยาวัณโรคไปทั้งๆที่ไม่ได้เป็นโรค เรียกว่าเจ็บตัวฟรี ด้วยเหตุที่การเอ็กซเรย์ปอดมีความไวและความจำเพาะต่ำอย่างนี้ ทำให้ไม่มีคุณค่าอะไรในการใช้ตรวจคัดกรองวัณโรค

ใครจะได้ประโยชน์จากการตรวจคัดกรองหรือค้นหาโรคอย่างจริงจัง
อย่างน้อยหมอไทยเห็นพ้องกันว่าคนต่อไปนี้ต้องตรวจค้นหาวัณโรคอย่างจริงจัง และหากพบว่าเป็น แม้จะเป็นแค่วัณโรงแฝง ก็ต้องให้ยารักษา ได้แก่
1 คนที่มีอาการชวนสงสัยว่าเป็นวัณโรค ได้แก่อาการต่อไปนี้
(1)    ไอนานเกิน 3 สัปดาห์
(2)    เสมหะมีเลือดปน
(3)    เหงื่อออกกลางคืน
(4)   น้ำหนักลด
(5)   เบื่ออาหาร
(6)   มีไข้ต่ำเป็นๆหายๆ เป็นต้น
2 คนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
3 คนที่หมอกำลังจะให้ยากดภูมิคุ้มกัน หรือยาเคมีบำบัด หรือหมอกำลังให้ยาพวกนี้อยู่
สำหรับคนเหล่านี้ ต้องตรวจค้นหาวัณโรคอย่างละเอียด  และหากพบว่ามีเชื้อวัณโรคอยู่ในตัว ก็ต้องกินยาให้ครบ แม้ว่าจะเป็นแค่วัณโรคแฝงก็ตาม