การร่วมเสนอผลงานคุณภาพ ในงาน HA national forum ณ อิมแพคอารีน่า เมืองทองธานี

10320528_10200214669487242_3857717786019696848_n

 

1.ชื่อผลงาน :การตรวจติดตามระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ควบคุมไม่ได้

2.สรุปผลงานโดยย่อ :การควบคุมระดับน้ำตาลในผู้ป่วยเบาหวาน  โดยการจัดทำ focus group จัดกิจกรรมให้สุขศึกษา ร่วมกับการตรวจติดตามระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง ทำให้ผู้ป่วยทราบระดับน้ำตาลของตนเองในแต่ละเวลาแต่ละมื้ออาหารเป็นผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลงกว่าก่อนเข้ารับการอบรม

3.เป้าหมาย :เพื่อลดระดับ FBS ในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ซึ่งมารับบริการที่คลินิกโรคเรื้อรังโรงพยาบาลแม่ออน ระหว่างเดือน พฤษภาคม ถึง เดือนพฤศจิกายน 2557

4.ปัญหาและสาเหตุโดยย่อ : ผู้ป่วยโรคเบาหวานบางส่วนยังไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของตนเองให้อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงปกติได้ ทั้งยังเกิดภาวะแทรกซ้อนโรคแทรกซ้อนต่ออวัยวะต่างๆ  ซึ่งปัจจัยสำคัญประการหนึ่งคือ ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเบาหวานการควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย การใช้ยา การดูแลเท้า รวมทั้งความร่วมมือของผู้ป่วยในการปฏิบัติตามคำแนะนำ ทีมการดูแลผู้ป่วยจึงได้นำแนวคิดให้ผู้ป่วยเบาหวานสามารถตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองมาใช้ เพื่อให้ผู้ป่วยทราบระดับน้ำตาลของตนเองในแต่ละเวลา ร่วมกับการให้สุขศึกษารายกลุ่ม

5.กิจกรรมการพัฒนา

1. คัดเลือกผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้        จำนวน 32 คน

2. จัดกิจกรรมการให้สุขศึกษา โดยข้อมูลความรู้ที่ผู้ป่วยได้รับประกอบด้วย ความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวาน สาเหตุของการเกิดโรค, ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ทั้งหมด, หลักในการดูแลตนเอง, เป้าหมายในการรักษา และการติดตามประเมินผล, ความรู้เรื่องการใช้ยา, การเลือกรับประทานอาหารในผู้ป่วยเบาหวาน, อาหารแลกเปลี่ยน, เบาหวานกับตา-ไต-เท้า, ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ-สูง และแนวทางการป้องกัน แก้ไขเบื้องต้น, ภาวะไขมันในเลือดสูง, การปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน และการออกกำลังกายให้สอดคล้องกับระดับน้ำตาลในเลือด รวมถึงประโยชน์ของการตรวจ และบันทึกระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง

3. ติดตามการบันทึกระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร ที่ระยะเวลา 2 4 และ 6 เดือนตามลำดับ พร้อมร่วมอภิปรายผลและให้คำแนะนำรายบุคคล

4. ติดตามระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารเป็นระยะตามแนวทางการติดตามของคลินิกเบาหวาน

5. ประเมินความรู้ความเข้าใจในการดูแลตนเองหลังสิ้นสุดโครงการ

 

6.การวัดผลและผลของการเปลี่ยนแปลง

ผู้ป่วยเบาหวานเป็นทั้งเพศชาย และเพศหญิงจำนวนเท่ากัน ร้อยละ 50 ส่วนใหญ่มีอายุอยู่ระหว่าง 46-56 ปี ร้อยละ 59.28 อายุเฉลี่ย 51.22 ปี (SD ± 6.73) ระยะเวลาที่เป็นเบาหวาน 5-10 ปี ร้อยละ 68.75 ระยะเวลาเฉลี่ย 7.38 ปี (SD ± 3.34) ระหว่างการศึกษาได้รับการปรับเพิ่มขนาดยารับประทาน ร้อยละ 28.12 ลดขนาดยารับประทาน ร้อยละ 37.50

กลุ่มศึกษามีคะแนนเฉลี่ยความรู้เรื่องการดูแลตนเองเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลภายหลังการศึกษาโดยรวมอยู่ในระดับสูง (mean = 16.00, SD ± 1.34) มากกว่าก่อนศึกษา (mean = 11.03, SD ± 3.43) ผู้ป่วยเกิดการเรียนรู้ และวางแผนในการจัดการตนเองได้ดีขึ้นโดยเฉพาะในเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย และการใช้ยา ระหว่างการศึกษาผู้ป่วยได้รับการปรับเพิ่มขนาดยารับประทาน ร้อยละ 28.12 ลดขนาดยารับประทาน ร้อยละ 37.50

 

Figure 2เปรียบเทียบผลลัพธ์ของการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง และคะแนนความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติในการดูแลตนเองของผู้ป่วยก่อน และหลังการศึกษา (N = 32)

ผลลัพธ์

ก่อนการศึกษา

หลังการศึกษา

P-value

FBS (mg %)

        ค่าเฉลี่ย ±SD

234.66 ± 85.36

165.08 ± 50.95

.003*

คะแนนความรู้

        ค่าเฉลี่ย ±SD

11.03 ± 3.43

16.00 ± 1.34

.001*

 

7.บทเรียนที่ได้รับ

          – การตรวจติดตามระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองนั้นทำให้ผู้ป่วยทราบ/รับรู้ถึงระดับน้ำตาลของตนเองในแต่ละช่วงเวลาของแต่ละวัน ระดับน้ำตาลภายหลังการรับประทานอาหารแต่ละชนิดที่แตกต่างกันอย่างเป็นรูปธรรม  ผู้ป่วยมีความตระหนักในการดูแลตนเองมากขึ้น

– SMBG ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ควบคุมไม่ได้นี้สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางประกอบการพัฒนาคุณภาพการดูแลผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ควบคุมไม่ได้ และขยายผลการศึกษาในระยะยาวไปถึงการติดตามระดับน้ำตาลสะสม (HbA1C) ตลอดจนดัชนีชี้วัดสุขภาพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป