การส่งเสริมสุขภาพหญิงหลังคลอดด้วยการแพทย์แผนไทย

การดูแลหลังคลอดด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย

เข้ากระโจม

                            วัฒนธรรมท้องถิ่นในการดูแลสุขภาพหญิงหลังคลอดในอดีตจะใช้วิธีการดูแลตนเองด้วย การอยู่ไฟ การทับหม้อเกลือ การประคบสมุนไพร การเข้ากระโจม การอบไอน้ำสมุนไพร และการนวดหลังคลอด นอกจากนั้นแล้ว ยังมีข้อห้ามในการรับประทานอาหาร งดอาหารแสลงต่าง ๆ เพราะมีเหตุผลและความเชื่อว่าถ้าหญิงหลังคลอดมีการปฏิบัติตัวในขั้นตอนต่างๆ ตามที่กล่าวมาข้างต้นนั้น จะส่งผลให้สุขภาพของแม่และเด็กแข็งแรง

การส่งเสริมสุขภาพหญิงหลังคลอดด้วยการแพทย์แผนไทยมีรายละเอียดดังนี้

1.การอยู่ไฟ หมายถึง การที่หญิงหลังคลอดนอนบนกระดานแผ่นเดียวหรือบางพื้นที่ใช้แคร่ไม้ไผ่ มีไฟก่อไว้ข้างล่างพอร้อน เป็นระยะเวลา 7-14 วัน บางรายอาจจะอยู่เพียง 3 วัน หรือนานถึง 1 เดือน หรือนานถึง 44 วัน การอยู่ไฟเป็นประเพณีไทยโบราณดั้งเดิม ซึ่งหญิงหลังคลอดในแต่ละภูมิภาคจะต้องอยู่ไฟทุกคน

อุปกรณ์ของการอยู่ไฟ ได้แก่

1) แคร่สำหรับการนอน (กระดานไฟ) ซึ่งนิยมกระดานแผ่นเดียว โดยมีเหตุผลให้หญิงหลังคลอดนอนนิ่ง ๆ เพื่อให้แผลฝีเย็บที่มีการฉีกขาดขณะคลอดหายสนิทดีเร็วขึ้น หรือในบางพื้นที่ใช้แคร่ไม้ไผ่เพื่อให้เกิดการถ่ายเทความร้อนและเหงื่อที่เกิดจากความร้อนได้ดี
2) พื้นสำหรับเติมเชื้อเพลิง เลือกฟืนที่ใช้ก่อไฟแล้วไม่ประทุเป็นสะเก็ด
3) แคร่สำหรับก่อไฟ เพื่อไม่ให้ไฟติดพื้นอาจเกิดเพลิงไหม้บ้านได้ แคร่ก่อไฟอาจจะเป็นกะบะทราย หรือทำแคร่ด้วยต้นกล้วยเป็นฐานรอง
4) อ่างน้ำพร้อมกระบวย สำหรับตักน้ำพรมไม่ให้ไฟร้อนเกินไป
5) เตาที่ใช้ติดไฟ อาจจะใช้เตาถ่าน หรือกะละมังสังกะสีเจาะรูท้ายกะละมั่งก็ได้ ประโยชน์ของการอยู่ไฟ การอยู่ไฟช่วยให้หญิงหลังคลอดได้พักผ่อน และได้รับความอบอุ่น ความร้อนช่วยกระตุ้นการหดรัดตัวของมดลูก ทำให้น้ำคาวปลาถูกขับออกมา ช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น และช่วยให้แผลฝีเย็บรวมทั้งแผลภายในมดลูกแห้งเร็วขึ้น ทำให้สิ่งตกค้างต่าง ๆ ภายในโพรงมดลูกถูกขับออกได้ดีขึ้น นอกจากนั้น การอยู่ไฟจะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนทำให้ลดอาการปวดเมื่อยร่วมด้วย สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะส่งผลให้มารดามีสุขภาพแข็งแรง

2. การประคบสมุนไพร หมายถึง การนำสมุนไพรสดหรือแห้งหลายชนิด เช่น ไพล ขมิ้นชัน ขมิ้นอ้อย ตะไคร้ ผิวมะกรูด การบูร พิมเสน เกลือ ใบมะขาม เป็นต้น นำมาโขลกพอแหลก คลุกรวมเข้ากัน ห่อเป็นลูกประคบ นำมาผ่านไอความร้อนจากน้ำเดือด เมื่อได้ความร้อนจากไอเต็มที่ นำลูกประคบมาประคบบริเวณหลัง สะโพก ท้อง และขา สมุนไพรที่ใช้ประคบส่วนใหญ่เป็นสมุนไพรที่มีน้ำมันหอมระเหย เมื่อถูกความร้อนจะส่งกลิ่นหอม ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย ประโยชน์ของการประคบด้วยสมุนไพรในหญิงหลังคลอด ได้แก่ ลดการเป็นตะคริว ลดการช้ำบวม ลดการอักเสบ กระตุ้นให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น และช่วยคลายกล้ามเนื้อ แก้ปวดเมื่อย ช่วยให้การหายใจดีขึ้น

3. การอาบน้ำสมุนไพร การนำสมุนไพรสดหรือแห้งหลายชนิดมาต้มกับน้ำ แล้วนำน้ำมาอาบ สมุนไพรที่ใช้ต้ม เช่น ไพล ขมิ้นชัน ขมิ้นอ้อย ตะไคร้ ผิวมะกรูด ใบเปล้า ใบหนาด เป็นต้น การอาบน้ำสมุนไพรจะทำร่วมกับการประคบเปียก หรืออบสมุนไพรโดยปรับตามความเหมาะสม การอาบสมุนไพรช่วยให้ร่างกายสดชื่น ผิวหนังสะอาด ลดอาการคัน ลดอาการหวัด คัดจมูก เพื่อป้องกันผิวหนังอักเสบ เป็นการบำรุงผิวพรรณไปในตัว

4. การเข้ากระโจมหรือการอบไอน้ำสมุนไพร คือ การนำสมุนไพรสดหรือแห้งหลายชนิดมาต้มในกระโจม เพื่อให้ไอน้ำที่ได้จากการต้ม ซึ่งจะต้องอยู่ในที่มิดชิด เพื่อให้ร่างกายได้รับไอน้ำอย่างทั่วถึง ในปัจจุบันจะมีการปรับประยุกต์ใช้เพื่อให้สะดวกขึ้น เป็นการอบสมุนไพรในตู้อบสำเร็จรูปหรือห้องอบสมุนไพร ส่วนสมุนไพรที่ใช้จะใช้เหมือนกับการอบไอน้ำสมุนไพร

สมุนไพรที่ใช้ในการอบไอน้ำ มี 4 กลุ่ม คือ

1) สมุนไพรที่มีกลิ่นหอม ซึ่งมีน้ำมันหอมระเหย ช่วยรักษาโรคผิวหนัง ปวดเมื่อย อาการหวัดคัดจมูก เช่น ไพล ขมิ้นชัน มะกรูด ฯลฯ
2) สมุนไพรที่มีรสเปรี้ยว กลุ่มนี้จะมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน ๆ ช่วยชะล้างสิ่งสกปรกและเพิ่มความต้านทานโรคให้กับผิวหนัง เช่น ใบมะขาม และใบหรือฝักส้มป่อย
3) สารหอมที่ระเหิดได้เมื่อถูกความร้อน เช่น พิมเสน การบูร ช่วยแต่งกลิ่น บำรุงหัวใจ ทำให้สดชื่น
4) สมุนไพรที่ใช้เฉพาะโรค เช่น กรณีผื่นคันใช้เหงือกปลาหมอ กรณีปวดเมื่อยใช้เถาวัลย์เปรียง กรณีแก้เจ็บตา ตาแฉะ ใช้กระวาน เกสรทั้ง 5 แต่งกลิ่น ช่วยระบบการหายใจ

5. การทับหม้อเกลือ หมายถึง การนำเกลือสมุทรใส่หม้อตั้งไฟให้ร้อน แล้วมาวางบนสมุนไพรที่เตรียมไว้ ห่อผ้าแล้วนำมาประคบตามอวัยวะต่าง ๆ ของหญิงหลังคลอด การทับหม้อเกลือเริ่มจากนำสมุนไพร ได้แก่ ไพล ว่านนางคำ ว่านชักมดลูก ไม่ต้องปลอกเปลือกหั่น และตำให้พอแหลก เคล้าตัวยาทั้ง 3 ผสมกับการบูร วางลงบนผ้าที่จะใช้ห่อ นำใบพลับพลึงกรีดเอาเส้นกลางใบออกวางขวางสลับกันเป็นลักษณะสี่เหลี่ยม วางบนสมุนไพรที่เตรียมไว้บนผ้าห่อ จากนั้นนำหม้อทะนนหรือหม้อดินขนาดเล็กใส่เกลือเม็ด ตั้งไฟจนเม็ดเกลือแตก ใช้เวลาประมาณ 15 นาที ยกหม้อเกลือวางลงบนใบพลับพลึงและสมุนไพรที่เตรียมไว้บนผ้าห่อ หลังจากนั้นห่อผ้าแล้วน้ำมาทับบริเวณท้อง หลัง สะโพก และขา

ข้อควรระวังในการทับหม้อเกลือ

1) ห้ามทำในรายที่มีไข
2) ห้ามรับประทานอาหารหนักก่อนทับหม้อเกลือ
3) ห้ามทำกรณีที่มดลูกยังลอยตัว ต้องรอให้มดลูกเข้าอู่ก่อนหรือหลังคลอดประมาณ 2 สัปดาห์
4) การคลอดโดยวิธีผ่าตัด ทำหมัน ห้ามทับหม้อเกลือ หรือควรจะรอให้เกิน 1 เดือน ประโยชน์ของการทับหม้อเกลือ ได้แก่ ทำให้มดลูกเข้าอู่ได้เร็ว ลดไขมันหน้าท้อง บรรเทาอาการปวดเมื่อย กระตุ้นการไหลเวียนโลหิต และทำให้น้ำคาวปลาไหลสะดวก การทับหม้อเกลือควรทำติดต่อกัน 3-5 วัน ครั้งละไม่เกิน 2 ชั่วโมง และควรทำในตอนเช้า

6. การนวดหลังคลอด การนวดหลังคลอดจะมีท่านวดที่เรียกว่า “การนวดเข้าตะเกียบ” เนื่องจากหญิงหลังคลอดจะมีอาการขัดสะโพกและขา เพราะเกิดจากการขยายตัวของอุ้งเชิงกรานในช่วงตั้งครรภ์และขณะคลอด จนทำให้เกิดอาการดังกล่าว ซึ่งปกติแล้วข้อต่อเหล่านี้สามารถกลับเข้าที่ได้เอง แต่ต้องใช้เวลาสักระยะ แต่การนวดเข้าตะเกียบเป็นการช่วยให้ข้อต่อกลับเข้าที่ได้เร็วขึ้น แต่ต้องเป็นผู้ชำนาญเท่านั้น ที่สามารถทำให้กับแม่หลังคลอดได้ เพราะถ้าไม่มีความชำนาญอาจทำให้เกิดการอักเสบของข้อต่อได้           ปัจจุบันคนไทยยังมีหญิงคลอดทั้งในเมืองและชนบทใช้วิธีการส่งเสริมสุขภาพหลังคลอดด้วยการแพทย์แผนไทยอยู่มาก และส่วนใหญ่พบว่า สุขภาพหญิงหลังคลอดดีขึ้นทั้งร่างกายและจิตใจแข็งแรง ปัจจุบันจึงได้มีนักวิจัยจำนวนมากที่หันมาศึกษาวิจัยการส่งเสริมสุขภาพด้วยการแพทย์แผนไทย เพื่อเป็นข้อมูลยืนยันทางวิทยาศาสตร์ และเป็นความหวังว่าในอนาคตคนรุ่นใหม่คงจะได้ใช้การแพทย์แผนไทยเป็นทางเลือกหนึ่งในการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานต่อไป

บรรณานุกรม สถาบันการแพทย์แผนไทย. (2551). การดูแลสุขภาพหญิงคลอดด้วยการแพทย์แผนไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์กิจการ โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก. ภาพประกอบ banner จาก http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9520000156881, http://yoofaibypunnada.com.a17.readyplanet.net/